มีรายได้พร้อมเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แล้วหรือยัง?
หากพูดถึงเรื่องของภาษี เมื่อใครก็ตามมีรายได้ย่อมมีหน้าที่ต้องเสียภาษีด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัท เป็นพนักงานเงินเดือน รับจ้างทั่วไป ทำงานอิสระ ค้าขาย งานบริการ วิชาชีพอิสระ เป็นต้นโดยเฉพาะผู้มีรายได้ที่เสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กฎหมายกำหนดว่าผู้มีรายได้เกิน 150,000 บาท มีหน้าที่ต้องเสียภาษี
และด้วยเหตุนี้ผู้มีรายได้ควรวางแผนภาษีของตนเองให้ดีก่อนเสียภาษี เพื่อให้เสียภาษีได้อย่างถูกต้อง ซึ่งสามารถวางแผน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้จากค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ โดยแบ่งตามประเภทรายได้ที่ได้รับ และรายละเอียดค่าลดหย่อนที่นำมาช่วยให้เสียภาษีน้อยลง ดังนี้
ประเภทรายได้ บ่งบอกค่าใช้จ่ายที่นำมาลดหย่อนภาษี
เมื่อผู้มีรายได้ลองคำนวณเล่นๆ แล้วพบว่ารายได้ของตนเองเกิน 150,000 บาท ก็จำเป็นต้องเริ่มวางแผนภาษีโดยด่วน ซึ่งสามารถนำค่าใช้จ่ายตามประภทรายได้ของแต่ละอาชีพมาหักออกจากรายได้ได้ แต่จะหักลบได้มากน้อยแตกต่างกัน โดยสามารถแยกตามประเภทรายได้ทั้งหมด 8 ประเภท ดังนี้
– เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 (40(1)) ได้แก่ เงินเดือน โบนัส สามารถหักแบบเหมา 50% แต่เมื่อรวมหักค่าใช้จ่ายจากเงินประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 แล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
– เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 (40(2)) ได้แก่ ค่าจ้างทั่วไป สามารถหักแบบเหมา 50% แต่เมื่อรวมหักค่าใช้จ่ายจากเงินประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 แล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
– เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3 (40(3)) ได้แก่ ค่าลิขสิทธิ์และสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เฉพาะค่าลิขสิทธิ์ ค่ากู๊ดวิลล์และสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา หักแบบเหมา 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท หรือหักตามจริง
– เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 (40(4)) ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผลจากหุ้น และ cryptocurrency แลกเปลี่ยนเงินตรา ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้
– เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 (40(5)) ได้แก่ ค่าเช่า หักแบบเหมา 10-30% หรือหักตามจริง
– เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6 (40(6)) ได้แก่ ค่าวิชาชีพอิสระ หักแบบเหมา 30-60% หรือหักตามจริง
– เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 7 (40(7)) ได้แก่ ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ หักแบบเหมา 60% หรือหักตามจริง
– เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 (40(8)) ได้แก่ เงินอื่นๆ ที่ไม่เข้าพวก เช่น รายได้จากการขายของออนไลน์ ขายทอง ร้านตัดผม ร้านอาหาร ซึ่งอยู่ใน 43 อาชีพที่กฎหมายกำหนด จะเลือกหักแบบเหมา 60% หรือหักตามจริงได้ แต่หากไม่เข้า 43 อาชีพ สามารถหักตามจริงได้อย่างเดียว
ค่าลดหย่อนเพิ่มเติม ที่นำมาลดหย่อนภาษีได้
นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายที่ผู้มีรายได้สามารถนำมาหักลบรายได้ได้แล้ว ยังสามารถนำค่าลดหย่อนอื่นๆ มาช่วยลดหย่อนภาษีได้เพิ่มเติมอีก ซึ่งแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1.กลุ่มลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว
– ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท ใช้เป็นค่าลดหย่อนพื้นฐานสำหรับทุกคนที่มีรายได้
– คู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ 60,000 บาท คู่สมรสที่จดทะเบียน หากไม่มีรายได้จะสามารถลดหย่อนได้เพิ่มอีก 60,000 บาท
– ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร 60,000 บาท สามารถนำมาลดหย่อนได้ตามจริง หรือสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท
– ค่าลดหย่อนบุตร 30,000 บาท หากมีบุตรตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป จะเพิ่มค่าลดหย่อนเป็นคนละ 60,000 บาท
– ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา-มารดา (คนละ) 30,000 บาท สามารถใช้ลดหย่อนได้หากบิดามารดาไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท และอายุ 60 ปีขึ้นไป ในกรณีที่มีพี่น้องหลายคน จะใช้สิทธิ์ได้แค่คนเดียว ซึ่งอาจสลับกับพี่น้องคนละปีก็ได้
– อุปการะผู้พิการ หรือทุพพลภาพ 60,000 บาท หากมีการดูแลคนพิการสามารถนำมาลดหย่อนได้ 60,000 บาท/คน
2.กลุ่มลดหย่อนการประกันและการลงทุน
– เงินสมทบประกันสังคม ตามที่จ่ายจริงในรอบปีภาษีนั้น
– ประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากที่มีประกันชีวิต 100,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันสุขภาพตนเองแล้วไม่เกิน 100,000 บาท
– ประกันสุขภาพตนเอง 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากที่มีประกันชีวิตแล้วไม่เกิน 100,000 บาท
– ประกันสุขภาพบิดา-มารดา 15,000 บาท
– ประกันชีวิตบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
– กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
– กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
– กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) 13,200 บาท
– กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
3.กลุ่มลดหย่อนเกี่ยวกับการบริจาค
– บริจาคสนับสนุนการศึกษา การกีฬาเพื่อประโยชน์สาธารณะ และโรงพยาบาลรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน โดยบริจาคผ่าน e-Donation เท่านั้น
– บริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศล ลดหย่อนได้ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน
– เงินบริจาคแก่พรรคการเมือง 10,000 บาท
4) กลุ่มลดหย่อนพิเศษ (มาตรการรัฐ)
– ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย 100,000 บาท
– โครงการช้อปดีมีคืน ลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท โดยจะต้องซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าที่จด VAT และออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปได้ และซื้อสินค้าภายในระยะเวลาที่รัฐบาลกำหนด (สำหรับปีภาษี 2566)
หลักการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
หลักการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้ผู้มีรายได้นำรายได้ทั้งหมดตลอดปีภาษีนั้น มาคำนวณตามสูตร มีอยู่ 2 แบบ คือ
1.รายได้ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อปี สูตรคือ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย
เทียบตารางอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (อัตราภาษีก้าวหน้า) แบบขั้นบันได
รายได้สุทธิ 1 – 150,000 บาท ได้รับการยกเว้น
รายได้สุทธิ 150,001 – 300,000 อัตราค่าภาษี 5%
รายได้สุทธิ 300,001 – 500,000 อัตราค่าภาษี 10%
รายได้สุทธิ 500,001 – 750,000 อัตราค่าภาษี 15%
รายได้สุทธิ 750,001 – 1,000,000 อัตราค่าภาษี 20%
รายได้สุทธิ 1,000,001 – 2,000,000 อัตราค่าภาษี 25%
รายได้สุทธิ 2,000,001 – 5,000,000 อัตราค่าภาษี 30%
รายได้สุทธิ 5,000,001 บาทขึ้นไป อัตราค่าภาษี 35%
2.รายได้เกิน 1 ล้านาทต่อปี สูตรคือ รายได้ (ยกเว้นเงินเดือน) x 0.5%
วิธีนี้จะต้องคำนวณทั้ง 2 แบบ จากนั้นนำตัวเลขที่ได้มาเปรียบเทียบกัน โดยให้เลือกแบบที่ได้ตัวเลขมากกว่าไปยื่นภาษี ตามช่วงเวลาที่กรมสรรพากรกำหนด ดังนี้
– ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(5) – (8) ให้นำรายได้ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน ของปีภาษีนั้น มายื่นภาษีช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน ของปีที่มีเงินได้ หรือยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตได้ภายในวันที่ 8 ตุลาคมของทุกปี
– ภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.90) สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(1) – (8) ให้นำรายได้ช่วงเดือนมกราคม – ธันวาคม ของปีภาษี ยื่นภาษีตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม ของปีภาษีถัดไป หรือยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตภายในวันที่ 8 เมษายนของปีถัดไป
สุดท้าย… อย่าลืมเลือกประเภท ลดหย่อน ยื่นภาษีให้ตรงเงื่อนไข
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ หากผู้มีรายได้เลือกประเภทได้ตรงกับรายได้ของตนเอง หาวิธีมาช่วยลดหย่อนได้ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด จะช่วยทำให้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้น้อยลง แต่ปัญหาอาจไม่ง่ายสำหรับอาชีพที่มีรายรับรายจ่ายสูง เอกสารค่อนข้างมาก การนำค่าใช้จ่ายมาหักลบรายได้ และหาค่าลดหย่อนอื่นๆ มาช่วย ก็ยังมีโอกาสเกิดความผิดพลาดในการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ดี แถมอาจจะต้องเสียภาษีเพิ่มย้อนหลังอีกด้วย
ดังนั้น หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ประกอบอาชีพที่มีรายได้สูง มีรายรับรายจ่ายและเอกสารจำนวนมาก โอกาสยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผิดบ่อย และเสียภาษีสูงถึง 35% จึงควรจดบริษัทเป็นนิติบุคคล เนื่องจากคำนวณภาษีจากกำไรสุทธิสูงสุดในอัตรา 20% เท่านั้น ซึ่งจะช่วยทำให้เสียภาษีน้อยลง และบริหารจัดการบัญชีได้อย่างเป็นระบบ โอกาสผิดพลาดน้อยกว่า แล้วถึงเวลาที่คุณควรจดบริษัทหรือยัง!