ยื่นภาษีออนไลน์ ระบบ e-Filing  สำหรับบุคคลธรรมดา ในทุกๆ ปี จะมีฤดูกาลยื่นแบบแสดงรายการภาษีบุคคลธรรมดาผ่านระบบการยื่นภาษีออนไลน์ ซึ่งในปัจจุบันกรมสรรพากรได้มีการปรับปรุงระบบการชำระและยื่นภาษีออนไลน์ (e-Filing) ให้มีความสมบูรณ์แบบ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการ และอำนวยความสะดวกในการยื่นและชำระภาษีออนไลน์แก่ผู้เสียภาษี รวมถึงการเข้าถึงบริการอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น  ระบบยื่นภาษีออนไลน์รูปแบบใหม่นี้เชื่อมต่อกับระบบอื่นๆ และทำงานภายในกับสำนักงานสรรพากรและหน่วยงานภายนอก โดยมีขั้นตอนอะไรบ้างลองติดตามได้ดังนี้ มือใหม่หัดยื่นภาษีออนไลน์ ก่อนที่จะทำการยื่นภาษีออนไลน์ แบบบุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90/ภ.ง.ด.91) ผ่านระบบใหม่ e-Filing  เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูกาลยื่นภาษีในแต่ละปี ผู้ที่มีรายได้แบบบุคคลธรรมดาต่างมีหน้าที่ในการยื่นภาษีเงินได้ประจำปี ซึ่งผู้ยื่นควรทำความรู้จักกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก่อนว่ามี 2 แบบด้วยกัน คือ แบบ ภ.ง.ด. 90 หมายถึงผู้ที่มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับ และแบบ ภ.ง.ด.91 หมายถึง ผู้ที่มีรายได้เป็นเงินเดือนโดยไม่มีรายได้เสริม หรือรายได้อื่น นอกจากนี้เพื่อให้สะดวกในการกรอกข้อมูล ขอให้เตรียมเอกสารสำคัญก่อนการยื่นภาษีออนไลน์ เช่น เอกสารแสดงรายได้ (50ทวิ) จากนายจ้าง เอกสารที่ใช้ลดหย่อนภาษีต่างๆ เป็นต้น แต่หากไม่เคยเป็นสมาชิกมาก่อน ให้คลิกตรงสมัครสมาชิกก่อน แล้วกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมด้วยหมายเลขโทรศัพท์มือถือ และตั้งรหัสผ่าน เท่านี้ก็เป็นสมาชิกพร้อมที่จะทำการยื่นภาษีออนไลน์ได้แล้ว ขั้นตอนการยื่นภาษีออนไลน์ ผ่านระบบ New e-Filing   ขั้นตอนที่ 1 : เข้าหน้าเว็บไซต์กรมสรรพากรที่ https://www.rd.go.th/272.html จะเจอข้อความที่เขียนว่า “ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ให้กดเข้าไป ขั้นตอนที่ 2 : เมื่อกดเข้าไปแล้ว จะเจอข้อความ “เรียนท่านผู้ประกอบการ” ให้กด X ออกได้เลย เพราะเป็นส่วนของผู้ประกอบการ ขั้นตอนที่ 3 : เข้าสู่หน้า “ยื่นภาษีและชำระภาษีออนไลน์” สำหรับคนที่ยังไม่เคยยื่นภาษีให้กด “สมัครสมาชิก” และกรอกข้อมูลส่วนตัวก่อน ส่วนคนที่มี Username Password อยู่แล้วให้กด “เข้าสู่ระบบ” ที่อยู่ด้านบนขวามือ แต่ถ้าทำผ่านมือถือให้กด “ยื่นแบบออนไลน์” แล้วกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน และรหัสผ่านที่เคยตั้งไว้ ขั้นตอนที่ 4 : เมื่อเข้ามาแล้ว ระบบจะเพิ่มความปลอดภัยในการยืนยันตัวตนด้วยการยืนยันรหัส OTP ที่ส่งไปที่มือถือ ถ้าใช้เบอร์โทรศัพท์เดิมที่แจ้งไว้ก็กดขอรหัสได้เลย ขั้นตอนที่ 5 : จากนั้นเช็กข้อมูลต่างๆ ของผู้มีรายได้ว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งถ้าใครทำรูปแบบธุรกิจ มีชื่อร้านให้กรอกลงไปด้วย และเลือกกรอก “สถานะ” ตามความเป็นจริง ในกรณีที่แต่งงานแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้กรอกสถานะ “โสด” แล้วกดคำว่า “ถัดไป”    ขั้นตอนที่ 6 : ระบบจะให้ผู้มีรายได้ระบุข้อมูลว่าตนเองมีรายได้จากอะไรบ้าง ซึ่งฉบับปรับปรุงใหม่จะให้ข้อมูลอธิบายชัดเจนแยกตามอาชีพว่ามีเงินได้อยู่ในประเภทใด โดยกด “ระบุข้อมูล” ตามประเภทเงินได้ของตนเอง แล้วกรอกข้อมูลให้ถูกต้อง โดยสามารถตรวจสอบรายละเอียดการคำนวณก่อนได้โดยกด “รายละเอียดการคำนวณ” จะมีการหักค่าใช้จ่ายตามประเภทของผู้มีรายได้ ถ้าข้อมูลถูกต้องให้กด “บันทึก” ก็จะพากลับมาที่หน้าเดิม ขั้นตอนที่  7 : ถ้าผู้มีรายได้มีเงินได้ประเภทอื่นๆ ด้วย ให้กดเข้าไปกรอกข้อมูลตามประเภทนั้นๆ  ต่อจนครบ ในกรณีที่มีรายได้จากอาชีพที่ให้เลือก หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา หรือ หักตามค่าใช้จ่ายจริง หากเลือกหักตามค่าใช้จ่ายจริง จะต้องกรอกรายละเอียดเพิ่มเติม และแสดงหลักฐานเพิ่ม แต่หากเลือกแบบเหมาจะไม่ต้องกรอกเพิ่มเติม เสร็จแล้วกดปุ่ม ถัดไป ขั้นตอนที่  8 : ค่าลดหย่อน ระบบจะกรอกข้อมูลเบื้องต้นในส่วนของค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท ให้ หากผู้มีรายได้มีค่าลดหย่อนอื่นๆ เช่น ลดหย่อนบุตร อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ประกันสังคม ประกันชีวิต ที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ โดยให้กด ระบุข้อมูล ตามหักข้อต่างๆ กรอกข้อมูลจนครบแล้วกดปุ่ม ถัดไป ขั้นตอนที่  9 : ตรวจสอบข้อมูล หน้านี้ระบบจะสรุปข้อมูลให้ตรวจสอบอีกครั้ง พร้อมกับระบบจะคำนวณภาษีที่ต้องจ่าย เมื่อตรวจสอบถูกต้องแล้ว ให้กด ถัดไป  ขั้นตอนที่  10 : ยืนยันการยื่นแบบ สำหรับหน้านี้จะขึ้นข้อมูลที่ผู้มีรายได้กรอกข้อมูลไปในแบบฟอร์มเหมือนจริง หากข้อมูลถูกต้องให้กด ยืนยันการยื่นแบบ ระบบจะแจ้งยื่นแบบสำเร็จ สุดท้าย…ยื่นภาษีออนไลน์ ระบบใหม่ e-Filing สะดวก รวดเร็ว ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ โดยสรุปสำหรับผู้ที่มีความทันสมัยและมีความถนัดในเทคโนโลยี ระบบการยื่นภาษีออนไลน์เป็นสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้มีรายได้แบบบุคคลธรรมดาหรือแบบนิติบุคคล การยื่นภาษีออนไลน์ ระบบการยื่นภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่น่าจะเป็นที่ชื่นชอบของผู้มีรายได้ยุคใหม่เพราะสะดวกกว่า เข้าใจง่าย และกรอกข้อมูลได้ไม่ยาก และมีคำอธิบายที่ชัดเจน  อย่างไรก็ตาม หากใครที่ไม่มีเวลา หรือรู้สึกว่าขั้นตอนนั้นเข้าใจยากหรือไม่มีเวลาในการทำก็สามารถให้ผู้เชี่ยวชาญหรือสำนักงานบัญชีช่วยอธิบายและทำการยื่นให้ได้เช่นกัน