ภาษีเงินได้นิติบุคคล …ภาษีที่คนทำธุรกิจต้องรู้

ภาษีเงินได้นิติบุคคล …ภาษีที่คนทำธุรกิจต้องรู้ ภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ ภาษีที่ถูกจัดเก็บจากผู้ประกอบการที่มีรายได้จากการประกอบกิจการ ซึ่งรูปแบบนิติบุคคลจะมีข้อดีเรื่องอัตราภาษีที่คงที่มากกว่าแบบบุคคลธรรมดา แต่ในด้านการจัดเก็บเอกสารทางบัญชีจะมีความยุ่งยากมากกว่า ดังนั้นกิจการควรต้องทราบเกี่ยวกับ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ก่อนว่ามีข้อมูลอะไรบ้าง ซึ่งจะอธิบายดังต่อไปนี้ กำหนดเวลาในการยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่ละประเภท เจ้าของธุรกิจจะสามารถวางแผนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ก็ต่อเมื่อทราบก่อนว่าต้องยื่นแบบฯ ภาษีใดบ้าง ภาษีหลักๆ และกำหนดเวลาในการยื่นภาษีแต่ละประเภท สามารถอธิบายได้ดังนี้ 1.ภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เสียภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิ จะต้องยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษีดังนี้ 1.1 การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบ จะต้องยื่นแบบแสดงรายการพร้อมชำระภาษี (ถ้ามี) ตามแบบ ภ.ง.ด.51 ภายใน 2 เดือน นับจากวันสุดท้ายของทุก 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี 1.2 การเสียภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิ เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีจะต้องยื่นแบบแสดงรายการพร้อมชำระภาษี (ถ้ามี) ตามแบบ ภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี 2.ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ภาษีที่เก็บจากมูลค่าการซื้อขายและการให้บริการภายในประเทศ รวมถึงสินค้านำเข้า โดยจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เมื่อมีผลประกอบการก่อนหักค่าใช้จ่ายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องไปยื่นจดทะเบียนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีรายได้เกิน และเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% ยื่นส่งแบบ ภ.พ.30 เป็นรายเดือนทุกเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ไม่ว่าในเดือนนั้นๆ จะมีรายรับหรือไม่ก็ตาม 3.ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ เป็นการจัดเก็บภาษีไว้ล่วงหน้า กำหนดให้หักภาษีจากเงินที่จ่ายให้แก่ผู้รับทุกครั้งที่จ่าย หลังจากนั้นให้นำส่งสรรพากรภายในวันที่ 7 ของทุกเดือน 4.ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีประเภทที่จัดเก็บเฉพาะบางธุรกิจที่กฎมายกำหนดไว้พิเศษ เช่น ธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ โดยต้องยื่นแบบ ภ.ธ.40 ภายในวันที่15 ของทุกเดือนถัดไปที่เกิดรายการที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับธุรกิจเฉพาะตามที่กฎหมายได้กำหนดว่าจะต้องเสียภาษีเหล่านี้ กิจการจะต้องให้ความสำคัญกับการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะด้วย เพื่อให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด และเป็นสิ่งสำคัญในการวางแผนภาษี 5.อากรแสตมป์ เป็นภาษีที่จัดเก็บในรูปของดวงแสตมป์ที่ใช้สำหรับปิดบนเอกสารราชการและหนังสือสัญญาต่างๆ นิติบุคคลที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้และเฉพาะที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เช่น กระทรวง ทบวง กรม องค์การของรัฐบาล หรือสหกรณ์ ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตามยังมีนิติบุคคลอีกบางประเภทที่เข้าลักษณะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร แต่ได้รับการยกเว้นตามบทบัญญัติของกฎหมายต่างๆ ได้แก่ 1. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ตามสัญญาว่าด้วย ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หรือทางเทคนิคระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ 2. บริษัทจำกัดที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน 3. บริษัทจำกัดและนิติบุคคลที่มีสภาพเช่นเดียวกับบริษัทจำกัดซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือกฎหมายต่างประเทศได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ 4. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่อยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศไทย ตามเงื่อนไขที่กำหนดในอนุสัญญา วิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล วิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล สามารถอธิบายได้ดังต่อไปนี้ คำนวณรายได้และรายจ่ายให้ใช้เกณฑ์สิทธิ โดยนำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และให้นำรายจ่ายที่เกี่ยวกับรายได้นั้น แม้ว่ายังไม่ได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชี และผลลัพธ์ที่คำนวณออกมาเท่ากับกำไรสุทธิ จะใช้สูตรคือ (รายได้ – รายจ่าย) = กำไรสุทธิ โดยมีขั้นตอนดังนี้ เมื่อได้กำไรสุทธิแล้ว ให้นำมาเปรียบเทียบกับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท + รายได้ทั้งปีไม่เกิน 30 ล้านบาท ดังนี้ กำไร 300,000 บาทแรก = ยกเว้นภาษี กำไร 300,001 – 3 ล้าน = ภาษี 15% กำไรมากกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไป = ภาษี 20% แต่ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว ให้จัดอยู่ในอัตราภาษีเท่ากับ 20% ตั้งแต่กำไรบาทแรก จัดเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องกับทางบัญชีและภาษี เอกสารทางบัญชีและภาษี คือ บันทึก หนังสือ หรือเอกสารใดๆ ที่ใช้เป็นหลักฐานในการลงรายการในบัญชีและภาษี ถึงแม้ว่าเจ้าของกิจการจะทำทุกอย่างทุกขั้นตอนแบบถูกต้องแล้วก็ตาม แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามเอกสารที่จัดเก็บตกหล่นไม่ครบถ้วนแล้วนำไปยื่นภาษีต่อสรรพากร หรือเมื่อถูกสรรพากรเรียกตรวจสอบ กลับไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ ทางสรรพากรอาจจะไม่เชื่อถือการคำนวณภาษีที่กิจการยื่นไป สุดท้ายสรรพากรก็จะทำการประเมินภาษีใหม่ทั้งหมด ทำให้เสียเวลาในการดำเนินการ ดังนั้นหากเจ้าของกิจการเห็นถึงข้อมูลเอกสารต่างๆ ว่ามีจำนวนมากเกินกว่าจะจัดเก็บเองได้ ควรจ้างสำนักงานบัญชีเข้ามาช่วยตรวจสอบดูแลให้น่าจะดีกว่า บทสรุป ภาษีเงินได้นิติบุคคลนับว่าเป็นอีกหนึ่งภาษีที่เจ้าของธุรกิจต่างๆ ควรศึกษากันให้อย่างท่องแท้ เพราะมีความยุ่งยากในการจัดเก็บเอกสารให้ครบถ้วน หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปจะทำให้มีปัญหากับสรรพากรได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *